แผนปฏิบัติการมาตรฐานสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2557 - 2561
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนากลไกการขับเคลื่อนมาตรฐานสถิติประเทศไทย
เงื่อนไขความสำเร็จในการผลิตมาตรฐานสถิติของประเทศไทย คือ กลุ่มบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดทำมาตรฐานสถิติ และขั้นตอนในการจัดทำมาตรฐานสถิติมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน โดยเงื่อนไขทั้ง 2 ประการนี้ ต้องได้รับการพัฒนาเป็นอันดับแรก เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
โครงการ 1.1 โครงการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนมาตรฐานสถิติประเทศไทย
หลักการและวัตถุประสงค์
ตามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติ เพื่อเป็นกลไกในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านมาตรฐานสถิติของประเทศ โดยดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย 2554 - 2558 อย่างมีประสิทธิภาพและจัดทำรายงานประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรีผ่านคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ อาทิ กำหนดมาตรฐานสถิติที่ควรจัดทำในแต่ละปี กำหนดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง กำกับดูแลและติดตามการใช้มาตรฐานสถิติในการผลิตสถิติทางการของประเทศ และรายงานผลการดำเนินงานด้านมาตรฐานสถิติต่อคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน เป็นต้น จากอำนาจหน้าที่ดังกล่าว จึงควรกำหนดให้มีการพัฒนากลไกและขั้นตอนการจัดทำมาตรฐานสถิติเพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีวิธีการและขั้นตอนทำงานที่ชัดเจน พร้อมทั้งสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับรู้และนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน
แนวทางการดำเนินงาน
1. จัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง ประกอบด้วย
1.1 สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดลำดับมาตรฐานสถิติที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการบูรณาการและใช้สถิติทางการร่วมกัน โดยใช้ผลการสำรวจและวิเคราะห์สถานะการใช้มาตรฐานสถิติเป็นแนวทางในการพิจารณา
1.2 ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิตินำเสนอผลการพิจารณาและจัดลำดับมาตรฐานสถิติที่สำคัญและจำเป็นเสนอคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติตัดสินใจ เพื่อกำหนดเรื่องมาตรฐานสถิติของประเทศที่ควรจัดทำตามลำดับความสำคัญ
1.3 คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติกำหนดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการคัดเลือกองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
1.4 สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง เสนอคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน
2. พัฒนาขั้นตอนการดำเนินงานการจัดทำมาตรฐานสถิติ ประกอบด้วย
2.1 จัดทำคู่มือแสดงขั้นตอนการจัดทำมาตรฐานที่เป็นระบบตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติ และคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติ
เฉพาะเรื่อง เพื่อแสดงให้เห็นกระบวนการทำงานตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดการทำงานอย่างชัดเจน
2.2 ชี้แจงหรือเผยแพร่คู่มือฯ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับรู้และนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน
ระยะเวลา: ปีงบประมาณ 2557 – 2561
งบประมาณ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ สนับสนุนงบประมาณในการประสาน จัดประชุม และค่าเบี้ยประชุม
ผู้รับผิดชอบ: สำนักงานสถิติแห่งชาติและคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่รับผิดชอบการผลิตสถิติทางการของหน่วยงานให้มีความรู้ด้านมาตรฐานสถิติ
เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยสถิติควรมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานสถิติและการใช้ประโยชน์ของมาตรฐานสถิติร่วมกัน ดังนั้นจึงควรพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบและดำเนินงานเกี่ยวกับสถิติทางการในหน่วยสถิติของรัฐ โดยวิธีการเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน (Work – based Learning) หรือวิธีอื่นๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีและเกิดประโยชน์ทั้งบุคลากรและหน่วยสถิติของรัฐอย่างแท้จริง
โครงการ 2.1 โครงการฝึกอบรมด้านมาตรฐานสถิติ
แนวทางการดำเนินงาน
1. จัดทำหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ด้านการจัดทำมาตรฐานสถิติที่อ้างอิงมาตรฐานสากล การแลกเปลี่ยนและเปรียบเทียบข้อมูลสถิติ และการใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยวิธีการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง (Work – based Learning) หรือวิธีอื่นๆ ที่เหมาะสม และมีบทเรียน e - learning เสริมการเรียนรู้ด้านมาตรฐานสถิติ
2. ฝึกอบรมตามกรอบเวลาของการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง และตามกลุ่มเจ้าภาพหลักในการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
3. ติดตามและประเมินผลการฝึกอบรม โดยเน้นที่ผลการปฏิบัติงานที่บุคลากรนำไปดำเนินการด้านมาตรฐานสถิติในหน่วยงานของตน
ระยะเวลา: ปีงบประมาณ 2558 - 2561 (เนื่องจากการฝึกอบรมบุคลากรขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการจัดทำมาตรฐานเฉพาะเรื่อง และเรื่องที่นำมาจัดทำมาตรฐานสถิติจึงสามารถดำเนินการได้เป็นช่วงๆ ตลอด 5 ปี)
งบประมาณ: สำนักงานสถิติแห่งชาติและหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของบุคลากร
ผู้รับผิดชอบ: สำนักงานสถิติแห่งชาติและคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
การพัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศไทย เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเปรียบเทียบและแลกเปลี่ยนสถิติทางการทั้งในประเทศและระหว่างประเทศได้ การดำเนินการดังกล่าวจะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างหน่วยสถิติที่มีจำนวนมากกว่า 200 หน่วยงาน โดยมีสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน และยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเป็นสำคัญ
โครงการ 3.1 โครงการสำรวจและวิเคราะห์สถานะการใช้มาตรฐานสถิติประเทศไทย
หลักการและวัตถุประสงค์
เพื่อให้การพัฒนามาตรฐานสถิติของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง และสอดคล้องตามสถานะการใช้มาตรฐานสถิติในการผลิตสถิติทางการอย่างแท้จริง จึงกำหนดให้มีการสำรวจและวิเคราะห์สถานะการใช้มาตรฐานสถิติ และจัดลำดับความสำคัญเพื่อวางแผนการจัดทำมาตรฐานสถิติ โดยมุ่งสำรวจในเรื่องมาตรฐานการใช้รหัส คำนิยาม และชื่อตัวแปร ผลการสำรวจฯ ดังกล่าว คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติจะนำไปพิจารณาเพื่อกำหนดมาตรฐานสถิติที่ควรจัดทำในแต่ละช่วงเวลาตามความเหมาะสม
แนวทางการดำเนินงาน
การสำรวจและวิเคราะห์สถานะการใช้มาตรฐานสถิติประเทศไทย และจัดลำดับความสำคัญเพื่อวางแผนการจัดทำมาตรฐานสถิติ มีขั้นตอนดังนี้
1. ออกแบบเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล
2. สำรวจข้อมูลจากหน่วยผลิตสถิติทางการ
3. วิเคราะห์ข้อมูล
4. สรุปและจัดทำรายงาน
ระยะเวลา : ปีงบประมาณ 2557
งบประมาณ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ผู้รับผิดชอบ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
โครงการ 3.2 โครงการพัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทย
หลักการและวัตถุประสงค์
แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2554 - 2558 ในยุทธศาสตร์ที่ 2 มีเป้าหมายในการพัฒนางานมาตรฐานสถิติ เพื่อให้การดำเนินงานด้านสถิติของประเทศมีความเป็นเอกภาพ มีคุณภาพและมาตรฐาน สามารถเปรียบเทียบกันได้ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ลดความซ้ำซ้อนของการจัดทำสถิติ นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและใช้ข้อมูลสถิติและสารสนเทศร่วมกัน ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานสถิติให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าวจึงเป็นหัวใจสำคัญของแผนพัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2557 – 2561 ซึ่งส่งผลให้หน่วยสถิติของรัฐยกระดับมาตรฐานการผลิตสถิติทางการ และเป็นไปตามแผนแม่บทฯ ดังกล่าวข้างต้น
แนวทางการดำเนินงาน
ภายหลังจากการสำรวจและวิเคราะห์สถานะการใช้มาตรฐานสถิติ มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
1. จัดประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติ เพื่อ
1.1 พิจารณาและจัดลำดับมาตรฐานสถิติที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการแลกเปลี่ยนและใช้สถิติทางการร่วมกัน และกำหนดมาตรฐานสถิติที่ควรจัดทำ โดยใช้ผลการสำรวจและวิเคราะห์สถานะการใช้มาตรฐานสถิติประเทศไทยเป็นแนวทางการพิจารณาตัดสินใจ
1.2 กำหนดหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่องโดยพิจารณาจากมาตรฐานสถิติที่สำคัญและจำเป็นก่อน
1.3 คัดเลือกองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง โดยพิจารณาจากการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่องนั้นๆ เป็นหลัก เพื่อจัดทำมาตรฐานสถิติ
2. ดำเนินการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
ภายหลังจากที่มีคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่องแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การดำเนินการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง ได้แก่ มาตรฐานรหัส (code lists) นิยาม (definition) ชื่อตัวแปร (variable name) และคำถามในแบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นหลัก โดยมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่องที่ดำเนินการเสร็จแล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติ คณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ และคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน ตามลำดับ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
3. ประกาศใช้มาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติเสนอรายงานต่อคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 เพื่อประกาศใช้มาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
ระยะเวลา : ปีงบประมาณ 2558 – 2561
งบประมาณ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ผู้รับผิดชอบ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง และเจ้าภาพหลักในการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การให้บริการและส่งเสริมการใช้มาตรฐานสถิติประเทศไทย
เมื่อมีการจัดทำมาตรฐานสถิติและประกาศใช้มาตรฐานสถิติแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญในลำดับต่อไป คือ การให้บริการและส่งเสริมการใช้มาตรฐานสถิติประเทศไทยกับหน่วยสถิติต่างๆของประเทศ โดยดำเนินการ ดังนี้
1. เผยแพร่และส่งเสริมการใช้มาตรฐานสถิติ
2. พัฒนาเครือข่ายมาตรฐานสถิติประเทศไทย
3. ติดตามประเมินผลการใช้มาตรฐานสถิติประเทศไทย
เพื่อให้หน่วยสถิติของประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลมาตรฐานสถิติและนำมาตรฐานสถิติไปใช้ในการผลิตสถิติทางการในหน่วยงาน อันเป็นเป้าหมายสำคัญของแผนพัฒนามาตรฐานสถิติฯ
โครงการ 4.1 โครงการเผยแพร่และส่งเสริมการใช้มาตรฐานสถิติประเทศไทย
หลักการและวัตถุประสงค์
เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการนำมาตรฐานสถิติไปใช้ โดยมุ่งให้มีการบูรณาการนำมาตรฐานสถิติที่ดำเนินการเสร็จแล้วไปใช้อย่างแท้จริง
แนวทางการดำเนินงาน
1. พัฒนาระบบบริหารจัดการและเผยแพร่มาตรฐานสถิติประเทศไทย เพื่อเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่ส่งเสริมและติดต่อสื่อสารด้านมาตรฐานสถิติ
2. เผยแพร่และส่งเสริมการนำมาตรฐานสถิติไปใช้โดยผ่านบุคลากรที่รับผิดชอบ ในการผลิตสถิติทางการของหน่วยงานรัฐโดยตรง
3. เผยแพร่และส่งเสริมการนำมาตรฐานสถิติไปใช้โดยวิธีการอื่นๆ เช่น การจัดทำเอกสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ เพื่อเป็นช่องทางการเผยแพร่ฯ ให้หน่วยสถิติของรัฐทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ ตลอดจนภาคเอกชนสามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลนี้ด้วย
ระยะเวลา : ปีงบประมาณ 2558 - 2561
งบประมาณ : สำนักงานสถิติแห่งชาติและเจ้าภาพหลักในการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
ผู้รับผิดชอบ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติ คณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง และเจ้าภาพหลักในการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
โครงการ 4.2 โครงการพัฒนาเครือข่ายมาตรฐานสถิติประเทศไทย
หลักการและวัตถุประสงค์
เพื่อให้เกิดการพัฒนางานด้านมาตรฐานสถิติของประเทศอย่างต่อเนื่องระหว่างหน่วยสถิติของรัฐตลอดจนหน่วยสถิติต่างประเทศ ทั้งระดับภูมิภาค และระดับสากล การสร้างเครือข่ายจึงเป็นวิธีการที่จะสามารถให้หน่วยสถิติดังกล่าว ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานสถิติ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนร่วมกันสนับสนุนเพื่อการพัฒนามาตรฐานสถิติของประเทศ
แนวทางการดำเนินงาน
1. พัฒนาเครือข่ายด้านมาตรฐานสถิติทั้งระหว่างหน่วยสถิติในประเทศ หน่วยสถิติต่างประเทศ ทั้งระดับภูมิภาค และระดับสากล
2. สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้ประสานเครือข่าย
ระยะเวลา : ปีงบประมาณ 2557 - 2561
งบประมาณ : สำนักงานสถิติแห่งชาติและเจ้าภาพหลักในการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
ผู้รับผิดชอบ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติ คณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง และเจ้าภาพหลักในการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
โครงการ 4.3 โครงการติดตามและประเมินผลการใช้มาตรฐานสถิติประเทศไทย
หลักการและวัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาสถานการณ์และปัญหาการนำมาตรฐานสถิติไปใช้ และนำผลมาทบทวนการดำเนินงานในรอบเวลาต่อไป เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวเป็นของคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ควรร่วมมือกันดำเนินการ
แนวทางการดำเนินงาน
การติดตามและประเมินผลสำเร็จและผลกระทบของการดำเนินงานและการนำมาตรฐานสถิติไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลการดำเนินงานในภาพรวม มีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้
1. กำหนดประเด็นและขอบเขตการติดตามและประเมินผล
2. สร้างเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูล
3. เก็บรวบรวมข้อมูล
4. วิเคราะห์ข้อมูล
5. สรุปและจัดทำรายงาน
ระยะเวลา : ปีงบประมาณ 2558 - 2561
งบประมาณ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ผู้รับผิดชอบ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานสถิติ คณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง และเจ้าภาพหลักในการ จัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
ตาราง 2 แผนปฏิบัติการพัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2557 – 2561