ในช่วงต้นของการขับเคลื่อนแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทยฉบับที่ 1 พ.ศ. 2554-2558 สำนักงานสถิติแห่งชาติมุ่งเน้นดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ การบริหารจัดการระบบสถิติอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงต้องการให้ประเทศไทยมีผังหรือรายการข้อมูลสถิติที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการวางแผนพัฒนาและกำหนดนโยบายซึ่งเรียกว่า “สถิติทางการ (Official Statistics)” ผ่านการแปลงแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทยไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 1 การบริหารบ้านเมืองที่ดี มาตรา 6(1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน (3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ และ (6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ จึงมีการดำเนินการในระดับภารกิจ (กระทรวง กรม เป็นรายสาขา) และระดับพื้นที่ (จังหวัดและกลุ่มจังหวัด) โดยในปี 2555 ได้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในระดับพื้นที่ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผังสถิติทางการรายสาขาจำนวน 21 สาขา ประมาณ 3,600 รายการสถิติทางการ และผังสถิติทางการในระดับพื้นที่ประมาณ 10,000 รายการ
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ข้อมูลสถิติทางการพบว่า ยังขาดการบริหารจัดการด้านมาตรฐานและคุณภาพสถิติทางการ รวมถึงเครื่องมือและคู่มือในการจัดการคุณภาพของสถิติทางการที่ผลิตขึ้นจากหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานเกิดปัญหาด้านความเป็นเอกภาพและผู้ใช้สถิติไม่มีความมั่นใจเพียงพอต่อการนำสถิติดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับการบริหารจัดการระบบสถิติและการตัดสินใจสำคัญระดับประเทศ ดังนั้นในปี 2556 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ก้าวสู่การพัฒนาระบบสถิติประเทศไทยใน “ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การพัฒนาข้อมูลสถิติให้มีมาตรฐาน” เพื่อให้ข้อมูลสถิติทางการของประเทศเป็นฐานข้อมูลสถิติหลักของประเทศที่ต้องนำมาใช้เพื่อตัดสินใจ และเป็นข้อมูลสำคัญที่ประกอบการวางแผนเพื่อพัฒนาประเทศที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ มีมาตรฐานตามหลักสากล มีคุณภาพ และสามารถเปรียบเทียบกันได้ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงมีการส่งเสริมการใช้มาตรฐานสถิติในหน่วยสถิติอย่างมีประสิทธิภาพ และจัดให้มีการประเมินคุณภาพสถิติทางการตามความพร้อมของหน่วยงาน
จากเหตุผลดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาข้อมูลสถิติและสารสนเทศของหน่วยงานภาครัฐ 21 เน้นการกำหนดแนวทางการพัฒนาข้อมูลสถิติให้มีมาตรฐานและคุณภาพ รวมถึงประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสถิติรายสาขา โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ
1. เพื่อพัฒนาข้อมูลสถิติทางการให้มีมาตรฐานตามหลักสากล มีคุณภาพ และสามารถเปรียบเทียบกันได้ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
2. เพื่อจัดทำแผนพัฒนาการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย พ.ศ. 2557–2561 สำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนาสถิติทางการให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามสากล
3. เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาสถิติรายสาขา 21 สาขา
4. เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทางด้านสถิติของหน่วยผลิตสถิติทางการมีความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการจัดการคุณภาพสถิติ มาตรฐานสถิติ และการใช้ประโยชน์จากสถิติทางการในการวางแผนกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศ
ในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้สอบถามความคิดเห็นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมจากหน่วยสถิติเพื่อนำมาการพัฒนาเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน แผนงาน เครื่องมือที่สำคัญต่อไป