กฎหมายและหลักการที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสถิติ
|
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในฐานะเป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับสถิติ ทั้งในบทบาทของการจัดระบบบริหารสถิติของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตข้อมูลสถิติที่สำคัญเพื่อติดตาม ประเมินผล และสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายและแผนงานของรัฐ กลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนบทบาทดังกล่าวไปสู่ความสำเร็จคือ
“มาตรฐานสถิติ” ที่เป็นเสมือน “โครงสร้างหลัก” ของการผลิตสถิติเพื่อนำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลเพื่อการใช้งานร่วมกันดังที่กำหนดไว้ในภายใต้พระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 ดังนี้
- มาตรา 6 (2) ให้สำนักงานสถิติมีอำนาจหน้าที่จัดทำมาตรฐานสถิติเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
- มาตรา 8 หน่วยงานต้องจัดทำสถิติให้เป็นไปตามแผนกำหนดความรับผิดชอบตามมาตรา 6 (5) และดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรฐานสถิติ
|
|
|
หลักปฏิบัติเพื่อการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย
(Thailand Statistics Code of Practice: TCoP)
แนวคิดในการบริหารจัดการคุณภาพสถิติทางการที่ให้ความสำคัญในเรื่องความต้องการของผู้ใช้หรือเหมาะสมกับวัตถุประสงค์/การนำไปใช้ (fit for use) โดยมีกรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้ได้สถิติทางการที่ดี คือ หลักการพื้นฐานสถิติทางการ 10 ประการ ที่เป็นเหมือนกรอบเชิงนโยบายของ UN มาถอดออกเป็นหลักปฏิบัติสถิติทางการ (Code of Practice for Official Statistics) เพื่อให้เข้าใจง่ายในเชิงปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย 9 หลักปฏิบัติ ดังนี้
สภาพแวดล้อมของสถาบัน (Institutional Environment)
หลักปฏิบัติข้อที่ 1 ความเป็นอิสระและความเป็นมืออาชีพ (Professional and Independence)
หลักปฏิบัติข้อที่ 2 การเก็บรักษาความลับของข้อมูล (Statistical Confidentiality)
กระบวนการทางสถิติ (Statistical processes)
หลักปฏิบัติข้อที่ 3 ความถูกต้องของระเบียบวิธีทางสถิติ (Sound Methodology)
หลักปฏิบัติข้อที่ 4 กระบวนการสถิติที่เหมาะสม (Appropriate Statistical Procedures)
ผลผลิตสถิติทางการ (Statistical outputs)
หลักปฏิบัติข้อที่ 5 ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ (Relevance)
หลักปฏิบัติข้อที่ 6 ความถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ (Accuracy and Reliability)
หลักปฏิบัติข้อที่ 7 ความเหมาะสมของเวลาและการตรงต่อเวลา (Timeliness and Punctuality)
หลักปฏิบัติข้อที่ 8 ความสอดคล้องและเปรียบเทียบกันได้ (Coherence and Comparability)
หลักปฏิบัติข้อที่ 9 การเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย (Accessibility)
มาตรฐานสถิติ เป็นหลักปฏิบัติข้อที่ 8 ของหลักปฏิบัติเพื่อการจัดการคุณภาพสถิติทางการประเทศไทย กล่าวคือ “สถิติทางการมีความสอดคล้อง สามารถเปรียบเทียบข้ามช่วงเวลา และสามารถบูรณาการข้อมูลจากหลายแหล่งได้” หมายความว่า สถิติทางการให้ความสำคัญกับคุณภาพในแง่ของความสอดคล้องของข้อมูลที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน (Coherence) และความสามารถในการเปรียบเทียบสถิติได้ถึงแม้ว่าจะเป็นสถิติที่ผลิตขึ้นจากหน่วยงานที่แตกต่างกันก็ตาม (Comparability) เพื่อนำไปสู่การบูรณาการและแลกเปลี่ยนสถิติร่วมกัน