แผนพัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2562
ประเทศไทยมีระบบสถิติที่มีลักษณะเป็นแบบกระจายงาน โดยแต่ละหน่วยงานสามารถผลิตสถิติทางการตามความต้องการของตนเองได้ เช่น สถิติจากงานทะเบียน สถิติจากการสำรวจหรือสำมะโน เป็นต้น โดยมีสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการระบบดังกล่าว ส่งผลให้การผลิตสถิติทางการของหน่วยงานต่างๆ มีการกำหนดรหัส คำนิยาม ชื่อตัวแปร และอื่นๆ ในเรื่องเดียวกันแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถบูรณาการและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ดังนั้น การจัดทำมาตรฐานสถิติจึงเป็นเรื่องสำคัญในการช่วยให้หน่วยสถิติของประเทศสามารถผลิตสถิติทางการให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่การแบ่งปันและใช้ประโยชน์จากสถิติทางการร่วมกัน เกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการสถิติของประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นสถิติที่ผลิตจากหน่วยงานที่ต่างกันหรือจัดทำขึ้นในคาบเวลาที่ต่างกัน จึงเป็นที่มาของการจัดทำแผนพัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2562
การจัดทำแผนพัฒนามาตรฐานสถิติฯ ครั้งนี้ ได้ศึกษาวิเคราะห์พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบข้อบังคับ กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือแผนการปฏิบัติราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสถิติ ศึกษาหน่วยงานสถิติต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการบริหารจัดการมาตรฐานสถิติ วิเคราะห์สถานะการใช้รหัส คำนิยามหรือคำจำกัดความ และชื่อตัวแปรในการผลิตสถิติทางการของหน่วยสถิติ และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสถิติ หลังจากนั้นได้นำผลการศึกษาดังกล่าวมาวิเคราะห์ SWOT เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2562 สามารถสรุปได้ดังนี้
วิสัยทัศน์
“ประเทศไทยมีมาตรฐานสถิติที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อน
เพื่อให้สถิติของประเทศพร้อมสู่การแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง”
พันธกิจ
- พัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
- พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่รับผิดชอบการผลิตสถิติทางการของหน่วยงานให้มีความรู้ด้านมาตรฐานสถิติ
- ส่งเสริมการใช้มาตรฐานสถิติในการผลิตสถิติทางการ
ยุทธศาสตร์
เพื่อให้สถิติทางการของประเทศเป็นมาตรฐานตามหลักสากลมีคุณภาพและสามารถเปรียบเทียบกันได้ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศรวมถึงมีการส่งเสริมการใช้มาตรฐานสถิติในหน่วยสถิติอย่างมีประสิทธิภาพ มียุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญในระยะแผนพัฒนาฯ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนากลไกการขับเคลื่อนมาตรฐานสถิติประเทศไทย
ตัวชี้วัด
1.1 มีกลไกการขับเคลื่อนมาตรฐานสถิติประเทศไทย
กลยุทธ์
1.1 สร้างกลไกการขับเคลื่อนมาตรฐานสถิติประเทศไทย
ผลผลิต
1.1 มีคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานสถิติเฉพาะเรื่อง
1.2 มีขั้นตอนการพัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทยที่เป็นระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่รับผิดชอบการผลิตสถิติทางการของหน่วยงานให้มีความรู้ด้านมาตรฐานสถิติ
ตัวชี้วัด
2.1 บุคลากรที่รับผิดชอบการผลิตสถิติทางการของหน่วยงานได้เข้ารับการอบรมด้านมาตรฐานสถิติ และผ่านเกณฑ์การประเมินไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
กลยุทธ์
2.1 พัฒนาบุคลากรที่รับผิดชอบการผลิตสถิติทางการของหน่วยงานให้มีความรู้ด้านมาตรฐานสถิติ
ผลผลิต
2.1 บุคลากรที่รับผิดชอบการผลิตสถิติทางการของหน่วยงานมีความรู้ด้านมาตรฐานสถิติไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ตัวชี้วัด
3.1 มีมาตรฐานสถิติประเทศไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างน้อย 8 เรื่องในระยะเวลา 4 ปี
กลยุทธ์
3.1 วิเคราะห์สถานะมาตรฐานสถิติเพื่อ กำหนดเรื่องจัดทำมาตรฐานสถิติ
3.2 พัฒนามาตรฐานสถิติประเทศไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ผลผลิต
3.1 รายงานผลการสำรวจและวิเคราะห์สถานะการใช้มาตรฐานสถิติ
3.2 มีผลการจัดลำดับความสำคัญและเรื่องเพื่อนำมาจัดทำมาตรฐานสถิติ
3.3 มีมาตรฐานสถิติประเทศไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างน้อย 8 เรื่อง ในระยะเวลา 4 ปี
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การให้บริการและส่งเสริมการใช้มาตรฐานสถิติประเทศไทย
ตัวชี้วัด
4.1 ปริมาณการเข้าถึงข้อมูลมาตรฐานสถิติของหน่วยงานและผู้ใช้สถิติทางการ
4.2 มีเครือข่ายด้านมาตรฐานสถิติทั้งหน่วยงานในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับสากลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้ประสานเครือข่าย
4.3 มีรายงานผลการดำเนินงานและการนำมาตรฐานสถิติไปใช้
กลยุทธ์
4.1 ให้บริการมาตรฐานสถิติอย่างเท่าเทียม
4.2 พัฒนาเครือข่ายมาตรฐานสถิติประเทศไทย
4.3 ติดตามและประเมินผลการใช้มาตรฐานสถิติประเทศไทย
ผลผลิต
4.1 หน่วยงานและผู้ใช้สถิติทางการได้รับทราบข้อมูลข่าวสารมาตรฐานสถิติอย่างเท่าเทียม
4.2 มีรายชื่อเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ใช้มาตรฐานสถิติทั้งหน่วยงานในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับสากล
4.3 มีการจัดประชุมเครือข่ายด้านมาตรฐานสถิติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
4.4 มีรายงานผลการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานและการนำมาตรฐานสถิติไปใช้ประโยชน์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง