บทนำ
ระบบสถิติของประเทศไทยมีลักษณะเป็นแบบกระจายงาน กล่าวคือแต่ละหน่วยงานสามารถผลิตข้อมูลสถิติภายใต้ความต้องการของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นสถิติจากงานทะเบียน สถิติจากการสำรวจหรือสำมะโน โดยมีสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการระบบสถิติดังกล่าว
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในฐานะเป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับสถิติ ทั้งในบทบาทของการจัดระบบบริหารสถิติของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตข้อมูลสถิติที่สำคัญเพื่อติดตาม ประเมินผล และสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายและแผนงานของรัฐ กลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนบทบาทดังกล่าวไปสู่ความสำเร็จคือ “มาตรฐานสถิติ” ที่เป็นเสมือน “โครงสร้างหลัก” ของการผลิตสถิติเพื่อนำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลเพื่อการใช้งานร่วมกัน เกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการสถิติของประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นสถิติที่ผลิตจากหน่วยงานที่ต่างกันหรือจัดทำขึ้นในคาบเวลาที่ต่างกัน
ดังนั้น มาตรฐานสถิติจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่จะต้องสอดประสานความร่วมมือกับหน่วยสถิติของภาครัฐ ในการเร่งพัฒนางานด้านมาตรฐานสถิติและผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางด้านมาตรฐานสถิติของประเทศเพื่อสนับสนุนงานผลิตสถิติทางการ รวมถึงพัฒนา ส่งเสริม และเผยแพร่ให้เกิดการบูรณาการสถิติของหน่วยงานภาครัฐอย่างแท้จริง
ทำไมการผลิตสถิติต้องมีเรื่องของมาตรฐาน
มาตรฐานสถิติ เป็น ๑ ใน ๑๐ ของหลักการพื้นฐานของสถิติทางการ (The Fundamental Principles of Official Statistics) ที่คณะกรรมาธิการสถิติแห่งสหประชาชาติให้การรับรอง โดยกำหนดให้ “มีการผลิตสถิติที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (International co-ordination)” นั่นหมายถึง หน่วยงานสถิติของรัฐในแต่ละประเทศที่มีการประสานและใช้แนวคิด การจัดหมวดหมู่ และวิธีการที่เป็นมาตรฐานและสอดคล้องกับระดับสากล จะช่วยส่งเสริมระบบสถิติในทุกระดับให้มีคุณภาพ มีความสอดคล้อง และมีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การบูรณาการสถิติ โดยจะต้องมีการประสานกับหน่วยสถิติภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และมีนำมาตรฐานไปใช้ตามข้อตกลง
องค์ประกอบของมาตรฐานสถิติ
- การจัดจำแนกข้อมูล (Statistical Classifications) เช่น มาตรฐานการจัดกลุ่มอายุ มาตรฐานการจัดประเภทอุตสาหกรรม มาตรฐานการจัดประเภทอาชีพ มาตรฐานการจัดจำแนกการศึกษา ฯลฯ
- หน่วยที่ใช้ในการผลิตสถิติ (Statistical Units) เช่น สถิติด้านเศรษฐกิจ (หน่วยที่ใช้ในการผลิตสถิติ เช่น วิสาหกิจ บริษัท สถานประกอบการ ฯลฯ) สถิติด้านสังคม (หน่วยที่ใช้ในการผลิตสถิติ เช่น ครัวเรือน คน ที่อยู่อาศัย ฯลฯ)
- คำนิยาม (Definitions)
- คำถาม (Questions)
- ชื่อตัวแปร (Variable names)
- การนำเสนอข้อมูลสถิติ
- กระบวนการงานด้านสถิติ
ภารกิจด้านมาตรฐานสถิติตามกฎกระทรวง
ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2551 กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินงานด้านมาตรฐานสถิติ โดยมีหน้าที่ “เสนอแนะนโยบายและแนวทางการจัดทำมาตรฐานสถิติเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการใช้มาตรฐานสถิติตามหลักสากล” เพื่อตอบสนองภารกิจดังกล่าว สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานสถิติผ่านกลไกแผนแม่บทระบบสถิติของประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๘ โดยมีเป้าหมาย “เพื่อก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านมาตรฐานสถิติของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทันสมัย และสามารถเปรียบเทียบกันได้ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่แลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลสถิติของประเทศร่วมกัน”