สถานการณ์ด้านมาตรฐานสถิติในการผลิตสถิติทางการ
สถานการณ์ด้านมาตรฐานสถิติในการผลิตสถิติทางการ
“สถิติทางการ” ข้อมูลสำคัญสำหรับการบริหารราชการเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาประเทศ เนื่องด้วยประเทศไทยมีลักษณะเป็นระบบสถิติแบบกระจายงาน กล่าวคือมีหน่วยงานภาครัฐจำนวนมากที่ผลิตสถิติจากการบริหารงาน งานทะเบียน และจากการผลิตสถิติตามความต้องการเฉพาะของหน่วยงาน และมีสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหน่วยสถิติกลางของประเทศที่ผลิตสถิติในแทบทุกสาขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถิติที่ได้จากการสำมะโนและสำรวจ
|
แม้ว่าการผลิตสถิติภายใต้ระบบดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเป็นการผลิตสถิติเพื่อตอบสนองการใช้งานเฉพาะตามภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงานภายใต้ความเหลื่อมล้ำด้านมาตรฐานสถิติและคุณภาพของข้อมูลสถิติ ดังสภาพปัจจุบันที่หน่วยสถิติต่างๆ มีการผลิตข้อมูลสถิติโดยมีกรอบแนวคิด คำนิยาม หน่วยวิเคราะห์ทางสถิติ การจัดจำแนก และวิธีการผลิตสถิติทั้งที่อ้างอิงมาตรฐาน สากลและที่กำหนดขึ้นเองเพื่อใช้ภายในหน่วยงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและวัตถุประสงค์ของการจัดทำข้อมูลสถิติของหน่วยงาน ซึ่งพบว่ายังมีบางหน่วยงานที่แม้ว่าจะอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกันยังใช้มาตรฐานในการผลิตสถิติที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถใช้ข้อมูลหรือบูรณาการข้อมูลร่วมกันได้ จึงทำให้กระทรวงต่างๆ พยายามจัดทำมาตรฐานกลางภายในกระทรวงขึ้น เช่น กระทรวงแรงงานจัดทำมาตรฐานข้อมูลกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาจัดทำรหัสมาตรฐานกลางด้านการศึกษา กระทรวงสาธารณสุขจัดทำศูนย์มาตรฐานรหัสและข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ กระทรวง มหาดไทยจัดทำศูนย์ข้อมูลกลางกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสภาพโลภาภิวัฒน์ที่ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น หน่วยงานทุกภาคส่วนมีการปรับบทบาทและวิธีการบริหารงานโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการปรับปรุงด้านข้อมูลข่าวสารให้มีการบูรณาการและแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งการที่ข้อมูลจะสามารถบูรณาการและเชื่อมโยงกันได้ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ข้อมูลนั้นต้องจัดทำอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานสถิติเดียวกัน |
จากสภาวการณ์ดังกล่าว ในการบริหารจัดการระบบสถิติของประเทศจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา“มาตรฐานสถิติของประเทศ” และส่งเสริมการใช้มาตรฐานสถิติอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ประเทศมีสถิติที่สำคัญสามารถสะท้อนภาพสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับใช้เป็นองค์ความรู้ในการจัดทำนโยบายและแผน และใช้ในการตัดสินใจเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ โดยต้องการให้ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์กับสถิติและสารสนเทศที่ได้จากแหล่งต่างๆ ร่วมกันได้บนพื้นฐานของกรอบแนวคิด คำนิยาม หน่วยวิเคราะห์ทางสถิติ การจัดจำแนก และวิธีการผลิตสถิติที่เป็นมาตรฐานอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
การจัดทำมาตรฐานสถิติไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ได้มาตรฐาน แต่ต้องการทำเพื่อให้หน่วยสถิติสามารถระบุการดำเนินงานและกระบวนการต่างๆ สามารถอธิบายความคุ้มค่าของการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพข้อมูลสถิติได้อย่างเป็นระบบ
มาตรฐานสถิติ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาและดำเนินงานเพื่อให้ได้ระบบสถิติที่ทันสมัย (Modernization of statistical system) โดยการใช้มาตรฐานสถิติมาเป็นตัวปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านสถิติที่ไม่ใช่แค่ภายในหน่วยงานเท่านั้น แต่เป็นการปรับปรุงสถิติทางการในเชิง “อุตสาหกรรม” ทั้งระบบสถิติของประเทศ กล่าวคือ แต่ละหน่วยสถิติเปรียบเสมือนโรงงานผลิตข้อมูลสถิติและสารสนเทศที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมการผลิตสถิติทางการ” ดังนั้นในแต่ละหน่วยงานที่ผลิตสถิติทางการควรมีมาตรฐานอุตสาหกรรมของตนเอง และเป็นเสมือนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาและแลกเปลี่ยนเครื่องมือการผลิตสถิติระหว่างผู้ผลิตสถิติด้วยกันเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน
หากสถิติทางการไม่มีมาตรฐาน การเปรียบเทียบข้อมูลที่ทำโดยหน่วยงานที่แตกต่างกันหรือต่างช่วงเวลากันย่อมทำไม่ได้ ความสามารถในการเปรียบเทียบข้อมูลเป็นมิติที่สำคัญของคุณภาพ และถ้าข้อมูลเปรียบเทียบไม่ได้จะทำให้การใช้ประโยชน์ของข้อมูลลดน้อยลงและส่งผลต่อความสำคัญของหน่วยงานที่ผลิตข้อมูลนั้นๆ ด้วย
มาตรฐาน คืออะไร
พระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551
มาตรฐานสถิติ คืออะไร
[1] อ้างอิงจาก Statistical Standard, Glossary of Statistical Terms, OECD